วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

395 ปี บันทึกของปินโต


395 ปี บันทึกของปินโต : หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย
[395 Years Pinto’s Pérégrinação : an Account of Historiography or Adventurous Novel]

ประวัติของปินโต

ปินโตเป็นชาวเมืองมองเตอมูร์เก่า ( Montemor-o-velho ) ใกล้เมืองกูอิงบรา ( Coinbre ) ในราชอาณาจักรโปรตุเกส เกิดในครอบครัวยากจนระหว่างค.ศ. 1509-1512 เมื่อปี ค.ศ.1523 จึงเป็นเด็กรับใช้ของสุภาพสตรีผู้หนึ่ง ชีวิตของเขาตกอยู่ในอันตรายจนต้องหลบหนีลงเรือจากเมืองกูแอ ดึ แปดรา (Cue de Pedra) การผจญภัยของปินโตเริ่มขึ้นเมื่อเดินทางไปถึงเมืองดิว (Diu) ในอินเดีย ขณะมีอายุได้ 28 ปี เขาเดินทางกลับมาตุภูมิเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1558 รวมเป็นเวลา 21 ปีของการแสวงโชคในเอเชีย

ปินโตเคยเผชิญปัญหาเรืออับปาง 5 ครั้ง ถูกขาย 16 ครั้งและถูกจับเป็นทาสถึง 13 ครั้ง ชีวิตในเอเชียของปินโตเคยผ่านการเป็นทั้งกลาสีเรือ ทหาร พ่อค้า ทูตและนักสอนศาสนา (missionary) เมื่อเดินทางกลับไปถึงโปรตุเกสในปีค..1558 เขาจึงพยายามติดต่อขอรับพระราชทานบำเหน็จรางวัล เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติและศาสนาอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากราชสำนัก ปินโตจึงไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปรากัลป์ (Pragal) ใกล้เมืองอัลมาดา (Almada) ทางใต้ของโปรตุเกส

ปินโตเขียนหนังสือชื่อ “Pérégrinação”ขึ้น และถูกตีพิมพ์หลังจากเขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.. 1583

ปินโตเคยเดินทางเข้าสยาม 2 ครั้ง ครั้งแรกเข้ามาในปัตตานีและนครศรีธรรมราชก่อนค..1548 ครั้งที่ 2 เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (..1534-1546)

หลังจากปินโตถึงแก่กรรม บุตรีของเขาได้มอบต้นฉบับหนังสือเรื่อง “Pérégrinação” ให้แก่นักบวชสำนักหนึ่งแห่งกรุงลิสบอน ต่อมากษัตริย์ฟิลิปที่ 1 (Philip I of Portugal,1581-1598 และทรงเป็นกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน - Philip II of Spain,1556-1598) ทรงได้ทอดพระเนตรงานนิพนธ์ชิ้นนี้ บุตรีของปินโตจึงได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลแทนบิดา

งานเขียนของปินโตตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค..1614 และแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ภาษาฝรั่งเศส (1628) ภาษาอังกฤษ (1653) ใน ค..1983 กรมศิลปากรได้เผยแพร่บันทึกของปินโตบางส่วนในชื่อการท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นังด์ มังเดซ ปินโต ค.1537-1558” แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการได้ตีพิมพ์ผลงานบางส่วนของเขาออกเผยแพร่อีกครั้งใน ค..1988 โดยแปลจากหนังสือชื่อ “Thailand and Portugal : 470 Years of Friendship”

งานเขียนของปินโตถูกนำเสนอในรูปของร้อยแก้ว บางตอนก็ระบุว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาจากคำบอกเล่าและการสอบถามผู้รู้ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต บางตอนก็ระบุว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น เหตุการณ์เดินทางเข้ามายังสยาม 2 ครั้ง เป็นต้น

หนังสือของปินโตถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวางในยุโรป จึงเป็นเหตุให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง วิลเลียม คอนเกรฟ (William Congreve, 1670-1729) นักเขียนบทละครชาวอังกฤษได้แทรกบทกวีในบทละครชื่อ “Love for Love” (ค.ศ.1695) เยาะเย้ยว่า “Mendez Pinto was but a type of thee, thou liar of the first magnitude.” เซอร์ ริชาร์ด เบอร์ตัน ( Sir Richard Burton) ในงานเขียนชื่อ “The Third Voyage of Sinbad, the Sailor” ระบุว่า การผจญภัยของปินโตมีลักษณะคล้ายกับเรื่องราวในนิยายอาหรับและตั้งฉายาเขาว่า “ซินแบดแห่งโปรตุเกส” ดับเบิลยู. เอ.อาร์. วูด (W.A.R. Wood) ชี้ว่าควรจะอ่านงานเขียนของปินโตในฐานะที่เป็นเรื่องราวของชายชราที่ได้เดินทางกลับไปสู่มาตุภูมิอีกครั้งหนึ่งเพื่อความบันเทิง มิใช่เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นวันต่อวัน และตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความแม่นยำของปีศักราชในบันทึกชิ้นนี้ด้วย

นักประวัติศาสตร์ไทยหลายคนเลือกใช้ข้อมูลของปินโตมาอ้างอิงโดยตลอด อาทิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มานพ ถาวรวัฒน์สกุลในเรื่องขุนนางอยุธยา(2536) อ้างเรื่องยศขุนนางสมัยอยุธยาตอนกลาง สุเนตร ชุตินทรานนท์ในเรื่องบุเรงนองกะยอดินนรธา (2538) ก็อ้างเอกสารของปินโตซึ่งระบุตรงกับราล์ฟ ฟิตซ์ (Ralph Fitch) ว่า พระเจ้าบุเรงนองนำเอาเรื่องการขอช้างเผือกมาเป็นสาเหตุของสงครามระหว่างสยามกับพม่าใน ค.ศ.1569 เป็นต้น

งานเขียนปินโตบางส่วนมีรูปแบบเป็นจดหมายติดต่อกับบุคคล ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามความแม่นยำของเวลา (Timing) ที่ระบุในบันทึกของเขา และปินโตยังยืนยันว่าเขาได้รับจดหมายฝากฝัง จากผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสแห่งเมืองกัว (Goa) เพื่อให้ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระราชินีแคเธอรีนแห่งโปรตุเกส แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการอ้างอิงพยานบุคคลของเขา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น